The Enemy Beauty ‘ไขมันช่องท้อง’-‘ไขมันใต้ผิวหนัง’– ศัตรูความสวย

ขึ้นปี 2559 แล้ว คุณผู้หญิงหลายคนเริ่มมีเป้าหมายใหม่ให้ตัวเองกันหรือยังคะ

จากการสำรวจปี 2558 พบว่า เป้าหมายในชีวิตอันดับแรก ที่คนส่วนใหญ่ทำไม่สำเร็จ คือ การลดความอ้วน ซึ่งแบ็งค์อยากบอกว่า ของแบบนี้ จะว่ายากก็ไม่ใช่เสียทีเดียว จะว่าง่ายก็ไม่เชิง แต่ทุกคนสามารถทำได้  ขอแค่คุณมี  ‘วินัย’-‘หักห้ามใจ’-‘ปิดปาก’

ไขมันช่องท้อง — เจ้าตัวร้ายของจริง

รูปร่างผู้หญิงเราโดยธรรมชาติ มีไขมันสะสมมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ยิ่งอายุมากขึ้น ไขมันยิ่งสะสมเพิ่มปริมาณตามไปด้วย โดยเราสามารถแบ่งบริเวณไขมันสะสมหลักๆ ได้ 2 ประเภท คือ ไขมันช่องท้อง (Visceral Fat) และไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat)

ไขมันช่องท้อง (Visceral Fat) จัดเป็นไขมันสะสมที่มีอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด พบในบริเวณช่องท้อง รอบอวัยวะภายในลำตัวส่วนกลาง เช่น รอบตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ฯลฯ ถ้าสะสมมากเกินไป ทำให้ดูอ้วนลงพุง เสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี และมะเร็งบางชนิด ฯลฯ ยิ่งถ้าอ้วนลงพุงมาก เข้าข่าย ‘หุ่นแอปเปิ้ล’ ละก็ ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว

ห่วงยางรอบเอว — ดัชนีชี้วัดอันตราย

รู้อย่างนี้แล้ว คุณจะเฉยเมยกับเจ้าตัวร้ายที่เกาะรอบเอวได้อย่างไรกันคะ

ที่สำคัญคือเราควรจะทราบว่า ไขมันช่องท้องปริมาณเท่าไหร่ ที่ไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ ด้วยความที่ไขมันช่องท้องอยู่ลึก จนไม่อาจสังเกต หรือวัดปริมาณสะสมได้โดยตรง ปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีประเมิน 2 แบบ คือ พิจารณาจากน้ำหนักตัว หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ถ้าค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ถือว่าน้ำหนักเกิน หรืออ้วน แต่ถ้าน้อยกว่า 25 ถือว่าอยู่เกณฑ์ปกติ

อีกแบบที่ทำได้แบบบ้านๆ คือ การวัดรอบเอวเรานี่แหละ งานวิจัยระบุว่า วิธีนี้สามารถประเมินอันตรายไขมันสะสมในช่องท้องได้ดีและแม่นยำกว่าสองวิธีแรกด้วยซ้ำ เช่น ถ้าผู้หญิงมีรอบเอวเกิน 32 นิ้ว (80 ซม.)  ผู้ชายมีรอบเอวเกิน 36 นิ้ว (90 ซม)  ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าปกติ  ถ้ายิ่งมีรอบเอวเกินเกณฑ์มากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคต่างๆมากตามไปด้วย  การวัดรอบเอวสม่ำเสมอ จึงช่วยให้เราประเมินผลกระทบที่อาจเกิดจากไขมันช่องท้องได้ดีที่สุด

‘ฮึบ ฮึบ’ –ปฏิบัติการพิฆาตความอ้วน

เนื่องจากไขมันช่องท้อง (Visceral Fat) อยู่บริเวณรอบๆ หรือติดอวัยวะในช่องท้อง จึงไม่อาจกำจัดออกได้ด้วยการดูดไขมันโดยตรง (Liposuction) นอกจาก…

ควบคุมปริมาณการทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง  อาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินจำเป็น  อาหารที่มีไขมันทรานส์มาก (transfat) เช่น เนยเทียม ครีมเทียม ขนมขบเคี้ยว โดนัท เค้ก อาหารทอดน้ำมันซ้ำๆ ฯลฯ   ควรเลือกทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต โฮลวีท ธัญพืชและถั่วต่างๆ ฯลฯ

หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 35-45 นาที จำนวน 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่น การทานอาหารจุกจิก ทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือทานขนมระหว่างนั่งดูทีวี หรือทำงาน

ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  อย่าซื้อยาลดความอ้วนมารับทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

‘ไขมันใต้ผิวหนัง’ — ตัวทำลายความสวย

แบ็งค์บอกเลยว่า ผู้หญิงเรากลัวไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) มากที่สุด เพราะมักเกาะให้เห็นทั่วไปตามร่างกาย เช่น ไขมันใต้คาง ลำคอ ท้องแขน เอว สะโพก ต้นขา และก้น ฯลฯ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก  ต้นขา อาจมีมากเป็นพิเศษ หรือที่เรียกกันว่า ‘หุ่นลูกแพร์’ นี่แหละค่ะ

แม้ว่าไขมันใต้ผิวหนังจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่ากับไขมันช่องท้อง แต่มีผลกระทบทางจิตใจ เช่น ทำให้หมดความมั่นใจ รู้สึกวิตกกังวล ซึ่งผู้หญิงเราทราบถึงความรู้สึกดี ตอนใส่กางเกงแล้วอึดอัด ติดกระดุมไม่ได้ ยิ่งถ้ามีไขมันสะสมปริมาณมาก อาจทำให้เสียบุคลิกภาพได้

วิธีดีที่สุดในการลดไขมันใต้ผิวหนัง คือ ควบคุมปริมาณอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนี้มีวิธีทางการแพทย์ช่วยได้ เช่น ดูดไขมัน (Liposuction) ซึ่งแพทย์จะฉีดยาชาหรือวางยาสลบคนไข้ ก่อนใช้เครื่องมือเจาะและดูดเอาไขมันออกโดยตรง

ปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีการแพทย์ที่ไม่ต้องดูดไขมัน (Non-Invasive) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ โดยใช้อุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสมจากคลื่นอัลตราซาวด์ชนิดเข้มข้น (High Intensity Focus Ultrasound) ในการทำลายเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง โดยเซลล์ไขมันที่ถูกทำลาย จะค่อยๆ ถูกขับออกจากร่างกายตามปกติ ซึ่งแต่ละวิธีทางการแพทย์นั้นมีข้อดี-ข้อเสียและความเหมาะสมต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูลและสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่ผู้หญิงเราจะเริ่มสิ่งใหม่ดีๆให้กับชีวิต หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น อย่าให้รอบเอวเกินเกณฑ์ปกติ วิธีที่ดีที่สุดคือ ทานอาหารในปริมาณเหมาะสม เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอนะคะ 

หมายเหตุ:

– Taking aim at belly fat, Harvard Women’s Health Watch, Volume 17, Number 12, August 2010

– International Diabetics Federation, The IDF consensus worldwide definition of metabolic syndrome, Brussels, 2006

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ImmaginiDaisyDivaClinic
หรือสอบถาม Line ID @immagini